วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ทุน 7 ประการที่ไม่ใช่เงิน ตอนที่ 3 : ทุน (ให้) สังคม



           2 บทความเกี่ยวกับทุนที่ผ่านมา ผมได้กล่าวถึง 3 ทุนที่ควรมีในตัวเรา คือ ทุนความดี ทุนเวลา และทุนความพยายาม (ทุน 7 ประการ ตอนที่ 1) และผมยังกล่าวถึง 3 ทุนต้องแสวง คือ ทุนความรู้ ทุนปัญญา และทุนนวัตกรรม (ทุน 7 ประการ ตอนที่ 2)รวมทั้งหมด 6 ทุน วันนี้ ผมจะกล่าวถึงทุนตัวสุดท้าย ซึ่งผมเลือกมาอยู่ต่างหากบทเดียวเนื่องจากเนื้อหาค่อนข้างเยอะครับ ทุนสุดท้ายนี้ คือ ทุน (ให้) สังคม ครับ

           อ่านจากชื่อ ไม่น่าเป็นทุนได้เลยนะครับ แต่ตรงนี้ล่ะครับที่สำคัญ ทุนนี้ตอนผมได้ยินมา คือ คำว่า ทุนสังคม หรือ การสร้างช่องทางเพื่อให้ทุนเพิ่มขึ้น (channel) ตอนนั้นผมรู้สึกว่าผมค่อนข้างเห็นแย้ง เพราะรู้สึกเป็นธุรกิจมากจนเกินไป แต่ผมเข้าใจดีเพราะผู้ที่บอกผมเรื่องนี้เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูง ความหมายของทุนของเขาจึงเป็นเชิงธุรกิจมากกว่า หลังจากคุยวันนั้นผมก็กลับมาคิดและตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วทุนสังคมในมิติหรือมุมมองของผมล่ะเป็นอย่างไร?

           สิ่งสำคัญที่ทำให้สังคมไทยยังดำรงอยู่ได้ แม้จะประสบปัญหาต่างๆ อย่างใหญ่หลวง นั่นก็เพราะ คนไทยยัง ให้ กันอยู่ ถึงแม้ว่ายามปกติ คนไทยเองจะไม่ค่อยสามัคคีกันเท่าไหร่ 555... แต่เมื่อถึงเวลาที่ประเทศประสบเหตุการณ์อันเป็นภัย หรือ มีเหตุการณ์ที่ต้องการการให้ ต้องการความร่วมมือร่วมใจ คนไทยเกือบทั้งหมดต่างออกมามีส่วนร่วม จะมากบ้างน้อยบ้างก็เต็มใจช่วย อย่างล่าสุด เหตุการณ์น้ำท่วมที่อีสาน โดยเฉพาะที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็เป็นเหตุการณ์ที่ได้เห็นการร่วมมือร่วมใจที่จะให้ จะช่วยเหลือของคนไทยครับ.... อารัมบถมากไปหน่อย ขอเข้าประเด็นเลยล่ะกันครับ

           ทุนให้สังคม ซึ่งผมให้เป็นทุนสุดท้าย เพราะมีความหมายครับ

           3 ทุนแรก อันได้แก่ ทุนความดี ทุนเวลา และทุนความพยายาม เป็นสิ่งที่ต้องสร้างให้มีในจิตใจ สำหรับ 3 ทุนถัดมา อันได้แก่ ทุนความรู้ ทุนปัญญา และทุนนวัตกรรม เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยทุน 3 อย่างต้นไปแสวงหา ไปสร้างขึ้นมา จนเป็น 6 ทุนภายใน-ภายนอกของตัวเรา เมื่อทุนครบ 6 แล้วให้เรานำสิ่งที่มีนี้ไปสร้างประโยชน์สุขกับผู้อื่นและส่วนรวมต่อ เป็นการสร้างทุนตัวสุดท้าย อ่านๆ ดูอาจคิดว่าเป็นอุดมคติใช่มั้ยครับ.... แต่ไม่ใช่หรอกครับ

           เพราะการสร้างการให้แบบไม่มีเงื่อนไข หรือ ทานบารมีนั้น ถูกเข้าใจผิดว่า ต้องเป็นการให้สิ่งของ ให้เงินทอง ทั้งๆ ที่การให้ เริ่มง่ายที่สุด คือ ให้จากตัวเรานี่ล่ะครับ....

           ผมเป็นคนชอบดูวีดิโอการบรรยายของ อาจารย์ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลมาก แม้จะพูดเรื่องซ้ำๆ ผมยังไม่เปลี่ยนความชอบ เพราะการฟังในหลายๆ เวลา แม้จะเรื่องเดิมๆ แต่ความคิดของเรามีทัศนะที่ต่างกันไป และที่สำคัญ คือ ท่านอาจารย์สุเมธ ได้พูดถึงการทรงงานของในหลวง ร.9 และแนววิธีปฏิบัติ ซึ่งผมได้ค่อยๆ นำมาใช้ปฏิบัติและเห็นผลจริงในหลายๆ เรื่อง เรื่องการ ให้ ก็เช่นเดียวกัน คำว่า คนไทยยังให้กันอยู่ เป็นคำพูดที่ได้รับฟังมาจากท่านอาจารย์สุเมธผ่านวีดิโอ ซึ่งอาจารย์บอกว่า ฟังมาจากในหลวง ซึงผมเชื่อเลยว่าถูกแน่ๆ ทั้งๆ ที่ไม่ต้องมีวิทยาศาสตร์หรือศาสตร์อื่นใดมาอธิบายความเชื่อของผมครับ

           จะให้มีหลักการบ้างก็ไม่ผิด ผมอยากให้พิจารณาง่ายๆ ครับว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นภัยทุกครั้ง ทำไมประเทศไทยจึงผ่านมาได้ ใช่ต่างคนต่างร่วมใจที่ให้กันลงมาหรือไม่ ตรงนี้ให้ลองคิดและให้คำตอบดูครับ

           อาจารย์สุเมธ ท่านบอกกล่าวโดยวิธีการง่ายๆ ครับว่า การให้ที่เราไม่ได้เสียอะไรเลย คือ การให้รอยยิ้ม ซึ่งเราไม่ได้เสียอะไรเลย แถมยังได้รอยยิ้ม และความเป็นมิตรกลับมา ให้ 1 กลับมา 2 ซึ่งเป็นกำไรนะครับ แม้ว่ากำไรตรงนี้ไม่ใช่เงิน แต่มันสร้างความสุขใจขึ้นมาเป็นกำไรที่ 3 ครับ

           การให้อีกอย่างหนึ่งซึ่งผมได้กระทำแล้วไม่เคยขาดทุนเลย คือ การให้ความรู้ครับ ในฐานะผู้รักษา ผมให้ความรู้กับผู้ป่วยและญาติ ในฐานะอาจารย์ผู้ควบคุมการฝึกปฏิบัติงานทางคลินิก ผมให้ความรู้กับนักศึกษา ตรงจุดนี้ เมื่อผมให้ความรู้ในสิ่งที่ผมรู้ไป ความรู้ผมไม่ได้หายไป กลับยิ่งเฉียบคมขึ้น ทั้งนี้เพราะ ผมได้ทบทวนสื่งที่ผมรู้มากขึ้น ได้กลับไปหาข้อมูลมากขึ้น และได้แชร์ความรู้มากขึ้น โดยเฉพาะการสอนนักศึกษา ผมมักจะสอนและถามกลับว่า ณ ตอนนี้ที่นักศึกษาเรียน มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ผมเรียนสมัยก่อน มีอะไรที่พัฒนาขึ้น มีอะไรที่ทำให้การคิดวิเคราะห์ การรักษาที่ก้าวไปข้างหน้าอีก เมื่อผมให้ความรู้ นักศึกษาได้ความรู้ นักศึกษาแชร์ความรู้ใหม่ๆ กลับมา ถามว่า ผมจะความรู้ลดลงหรือไม่.... คำตอบ คือ ไม่ลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นครับ

           จะเห็นได้ว่า ทุนให้สังคม ที่ผมยกมาในบทความนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเลย สามารถใช้สิ่งที่มีของเรา ใช้ทุนชีวิตของเรา ให้ กับผู้อื่น ให้กับสังคมได้ครับ

           จบไปแล้วครับ สำหรับ ทุน 7 ประการที่ไม่ใช่เงิน ในทัศนคติของผม อาจมีคำบางคำ สำนวนบางสำนวน ที่อาจพาดพิงใคร กระทบความรู้สึกใครก็ตาม ขอให้ ให้อภัย ในความไม่ระวัง ในความรู้น้อยของผมด้วยครับ และถ้าคิดว่า ทุนทั้ง 7 ที่ผมว่าไปมีประโยชน์ ขอให้ลองนำไปใช้ ไมได้หวงครับ ไปใช้ได้เลย และเผื่อกับคนรอบข้างที่คุณรักด้วยครับ ไว้มีโอกาส ผมจะเขียนเรื่องแนวๆ นี้ให้ได้อ่านอีกครับ....

ขอบคุณครับ
อนุชัย

เครดิตภาพ จาก
https://mgronline.com/stockmarket/detail/9620000034073

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ทุน 7 ประการที่ไม่ใช่เงิน ตอนที่ 2 : ทุนต้องแสวง



           บทความเรื่องทุนครั้งที่ผ่านมา(ทุน 7 ประการ ตอนที่1) ผมได้กล่าวถึง ทุน 3 อย่างที่เป็นทุนภายในตัวเราเอง คือ ทุนความดี อันเป็นปฐมทุน ทุนเวลา และทุนความพยายาม บทความนี้ผมจะกล่าวถึงทุนอีก 3 ทุน ที่เป็นทุนที่ต้องใช้ 3 ทุนแรกนี้มาสร้างเพิ่มครับ

           ทุนตัวที่ 4 คือ ทุนความรู้ ครับ ผมไม่มีข้อโต้แย้งนะครับว่า ก่อนจะได้ความรู้ในวิชาต่างๆ ต้องจ่ายเงินเพื่อไปเรียนมา แต่อยากให้พิจารณาดังนี้ครับว่า ถ้าเราอยากปลูกต้นไม้ให้เป็น นอกจากใช้เงินไปลงเรียนวิชาแล้ว ยังจำเป็นต้องมีอะไรเพื่อช่วยให้ได้ความรู้มา คำตอบ คือ ต้องมีจิตใจที่ดีอยากจะได้ความรู้ ต้องใช้เวลาและความพยายามเพื่อเรียนรู้มา อันความรู้ที่อยากได้รับมา เสียเงินลงไป แต่ไม่ทุ่มเท ทั้งจิตใจ เวลา และความพยายาม ความรู้ย่อมไม่เกิดขึ้นแน่นอนครับ

           การจะได้รับความรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง จำต้องอาศัยการสะสม ซึ่งการสะสมเป็นเรื่องของระยะเวลา (1) และต้องอาศัยการขัดเกลา (2) การขัดเกลาเพื่อให้จากที่ไม่รู้เลย จนเกิดความชำนาญได้นั้น ต้องมีความพยายามมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ และใจเย็นพอที่จะรออย่างอดทน เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการเรียนให้เกิดความรู้ได้ครับ

           เมื่อมีความรู้ จำต้องทำให้เกิดทุนตัวที่ 5 ขึ้นมา คือ ทุนปัญญา ครับ
ความรู้คู่เปรียบด้วย          กำลังกายแฮ 
สุจริตคือเกราะบัง             ศาสตร์พ้อง
ปัญญาประดุจดัง           อาวุธ
กุมสติต่างโล่ป้อง            อาจแกล้วกลางสนาม
           ที่มา : โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางศ์ พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2423

           ความรู้ เป็นสิ่งที่ต้องพยายามแสวงหา อดทนเรียนรู้จนสำเร็จ สำหรับปัญญา คือ การใช้ความรู้ที่มีไปพัฒนา และทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ คำว่าเป็นประโยชน์นั้นต้องประกอบด้วยความดี จึงเป็นประโยชน์สุขได้

           หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า "มีความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด" กันมาบ้าง ความหมายของคำกล่าวนี้ คือ ศึกษาจนมีความรู้มากมาย แต่ไม่ใช้ปัญญา นำความรู้ที่มีมาใช้ ทั้งเรื่องที่ยากและเรื่องที่ง่าย คือ การทำงานเลี้ยงชีพ

           การมีปัญญา เหมือนกับการออกสงครามที่ทหารใช้กำลังไปป้องกันประเทศ โดยการใช้ปัญญา คือ การใช้ความรู้เปรียบดังอาวุธไปต่อสู้กับปัญหาครับ แต่ที่สำคัญการรบไม่ได้มีแต่อาวุธ แต่ต้องมีเกราะคุ้มกันและโล่ป้องกัน ซึ่งการมีปัญญาอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีคุณธรรมและมีสติเพื่อให้ความรู้ที่ได้ใช้ไป เกิดประโยชน์สุขได้ครับ

           สำหรับทุนตัวที่ 6 ที่จะกล่าวต่อไป คือ ทุนนวัตกรรม หรือ Innovation ครับ


           การจะสร้างนวัตกรรม ไม่เป็นเพียงแต่ต้องอาศัยองค์ความรู้และการสร้างสรรค์เท่านั้น การสร้างนวัตกรรมจะต้องสร้างประโยชน์กลับมายังสังคมโดยรวมด้วยจึงเป็นนวัตกรรมที่สมบูรณ์ อันที่จริงการสร้างนวัตกรรมขึ้นมา เราไม่จำเป็นต้องคิดการใหญ่ เช่น การคิดค้นสร้างโทรศัพท์แบบ อเล็กซานเดอร์ แกรห์ม เบลล์ (Alexander Graham Bell) หรือ การคิดค้นสร้างเครื่องบินแบบพี่น้องตระกูลไรท์ (Wright brothers) ขอให้ใช้ทุนความรู้ที่มี รวมกับการสร้างสรรค์ และคิดถึงประโยชน์ต่อผู้อื่นหรือสังคม ก็สามารถเป็นนวัตกรรมที่สมบูรณ์ได้ครับ

           ตัวอย่างนวัตกรรมแบบไม่ต้องลงทุนมากในที่ทำงานของผม ได้แก่ การตีเส้นวงประตูเพื่อป้องกันผู้ป่วยถูกประตูชนโดยไม่ตั้งใจของนักศึกษากายภาพบำบัด ทำโดยติดสติกเกอร์สีเข้มเห็นชัดตามวงของประตูเปิด สามารถลดความเสี่ยงการถูกชนโดยไม่ตั้งใจจนเหลือ 0 หรือการคิดเทคนิคการห่อผ้าร้อนแบบซองจดหมายของพี่ผู้ช่วยนักกายภาพบำบัด เพื่อให้ผ้าร้อนไม่หลุดออกจากผ้า ได้ความร้อนทั่วถึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งไม่ได้ใช้ค่าใช้จ่ายที่สูง ใช้ความรู้ที่มี รวมถึงเป็นการคิดเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วยครับ
         
           จบไปแล้วสำหรับทุนอีก 3 อย่าง คือ ทุนความรู้ ทุนปัญญา และทุนนวัตกรรม รวมกับทุน 3 ประการแรก คือ ทุนความดี ทุนเวลา และทุนความพยายามแล้ว จะเป็นทุน 6 อย่างที่เราทุกคนสร้างได้ ในบทถัดไปจะเป็นทุนอย่างสุดท้าย ซึ่งผมยกไว้เป็นบทเดี่ยวๆ คือ ทุนสังคม ครับ รอติดตามบทถัดไปนะครับ

ขอบคุณครับ
อนุชัย

เครดิตภาพ จาก
https://mgronline.com/stockmarket/detail/9620000034073

วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ซักประวัติ เพื่อ... บทที่ 2 ONSET บ่งชี้อนาคต

           บทที่แล้ว (ตาม link นี้ครับ) ผมอารัมบถเกี่ยวกับการซักประวัติ โดยยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในขณะที่เป็น CI สอนวิชาปฏิบัติการทางคลินิก และทิ้งท้ายด้วยรูปที่เป็น flowchart ของการซักประวัติคร่าวๆ คือ รูปนี้ครับ


           สำหรับปี 2 ที่ไม่เคยเรียนพยาธิวิทยา หรือ พยาธิสรีรวิทยาของโรคมาก่อน การซักประวัตินับเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง แต่ที่จำเป็นต้องเรียนการซักประวัติ เพราะการซักประวัติเป็นวิชาที่ต้องฝึกทักษะ หมายถึง ต้องการการฝึกใช้จนมีความชำนาญ ความชำนาญไม่ใช่เรื่องของความรู้ แต่เป็นวิธีการถาม ชุดคำถาม และกระบวนการเรียบเรียงข้อมูลที่ได้จากการถาม ซึ่งเมื่อขึ้นปีที่สูงกว่านี้ การฝึกแบบเริ่มต้นจะลดลงด้วยองค์ความรู้เรื่องโรคจะเริ่มมีมากขึ้น ความสนใจในการถามจะเน้นหนักไปที่โรคมากกว่าทักษะเบื้องต้นในช่วงปีที่ 2 ครับ

           เมื่อเริ่มต้นซักประวัติจริงๆ สิ่งหนึ่งที่พบนอกจากความรู้ทางพยาธิวิทยา/สรีรวิทยาของโรคที่ยังไม่ได้เรียนแล้ว การเรียบเรียงข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติ เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้กระบวนการซักประวัติเกิดช่องว่าง หรือขาดตอนในประวัติ ซึ่งอาจส่งผลต่อการหาอาการสำคัญ และการนำประวัติไปสู่การตรวจร่างกายและออกแบบการรักษาได้

           จากรูปที่ผมให้ไว้ เป็น flowchart แบบที่ให้เข้าใจง่ายสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 เริ่มซักประวัติ แต่ผมไม่ได้ให้ flowchart นี้ไปเลยนะครับ ผมให้นักศึกษาไปซักประวัติ 1 ครั้งแล้วกลับมาสรุปให้ผม ก่อนจะแทรก flowchart นี้เข้าไปในครั้งที่ 2 ครับ ก่อนที่ผมจะเริ่มแชร์รายละเอียด flowchart นี้ ผมต้องกราบขอบพระคุณอาจารย์ท่านหนึ่งที่เขียน flowchart นี้เพื่อสอนผมกับเพื่อนตอนเริ่มฝึกงาน อาจารย์ท่านนั้นคือ อาจารย์คีรินท์ (ผศ.ดร.กภ.คีรินท์) ซึ่งท่านสอนให้การซักประวัติที่ผม ณ ตอนนั้น คิดเสมอว่ายากมาก กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย เพียงแค่ ปรับความคิด จัดระเบียบสมอง เท่านั้นเองครับ ตอนนั้น อาจารย์เขียนใส่กระดาษมาดังนี้ครับ


ประวัติ 3 ----->  ประวัติ 1 ----->  ประวัติ 2

           โดยประวัติ 1 คือ ประวัติช่วงที่แสดงอาการ ตอนนั้นอาจารย์ยกตัวอย่างไว้ว่า ถ้าผู้ป่วยเจ็บมา 1 สัปดาห์ก่อนมารักษา ให้ถามว่า เมื่อวันที่มีอาการเจ็บ ผู้ป่วยกำลังทำอะไรอยู่ มีอาการช่วงเช้า สาย บ่าย เย็น หรือเกิดที่ไหนอย่างไร นั่นคือ ณ ตอนที่เจ็บนั้น มีกระบวนการอะไรเกิดขึ้น

           ประวัติส่วนที่ 2 เป็นส่วนประวัติหลังจากเจ็บแล้ว ผู้ป่วยจัดการอย่างไรบ้าง ไปรักษาทางแพทย์ก่อนหรือไม่ ก่อนมารักษากับเรา สำหรับประวัติส่วนที่ 3 เป็นประวัติก่อนการบาดเจ็บ จำพวกพฤติกรรมส่วนตัว และสภาพแวดล้อม

           เมื่อผมเริ่มสอนวิชาทางคลินิกเต็มตัวเมื่อปี พ.ศ.2551 ผมได้ปรับภาพที่อาจารย์ได้สอนผมสมัยเป็นนักศึกษามาเป็นภาพปัจจุบันโดยเป็นตามนี้ครับ


ประวัติ(ก่อน) -----> ONSET -----> ประวัติ(หลัง) -----> C.C.

           โดยส่วนใหญ่ นักศึกษา จะเริ่มถามจาก ONSET ก่อน ซึ่ง ONSET นี้ ถ้าจะเจาะจงลงไป คือ ประวัติ ณ เวลาที่เริ่มอาการ ความสำคัญคือ การถามเพื่อให้ได้กลไกของโรคหรืออาการที่นำไปสู่การป่วยหรือบาดเจ็บ สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ผมไม่ได้เน้นจุดนี้มาก แต่ให้ชุดคำถามที่เริ่มต้นว่า ณ ตอนที่เกิดเหตุ จำได้หรือไม่ว่าทำอะไรอยู่ (1) เหตุเกิดช่วงเวลาใด (2) มีความรู้สึกหรืออาการอะไรบ้างให้ค่อยเล่ามา (3) และสามารถช่วยตนเองในการพาตัวเองมาทำการรักษาได้หรืออาศัยผู้อื่นช่วยพามารักษา (4) ประมาณนี้ครับ โดยชุดคำถามที่ให้ไป เป็นคำถามกลางๆ ไม่ได้แยกตามสาขาของทางกายภาพบำบัด ถ้าจะเจาะจงแยกสาขา เช่น ผมอยู่สาขาระบบประสาท รักษากลุ่มโรคหลอดเลือดสมองเป็นหลัก จะถามคำถามประมาณว่า ช่วงมีอาการอ่อนแรงแขนขาทันทีหรือไม่ (1) สามารถเรียกคนมาช่วยได้หรือไม่ (2) หรือ หมดสติล้มลงหรือไม่ (3) ประมาณนี้ครับ ซึ่งคำถามเจาะจงสาขา มีความยากสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ผมจะเจาะจงคำถามประเภทหลังนี้กับนักศึกษาชั้นปีที่สูงขึ้นครับ

           มีคำถามว่า แล้วนักศึกษาชั้นปีที่ 2 จะเข้าใจได้อย่างไรว่า ประวัติส่วน ONSET มีความสำคัญ ในวิธีการเวลาที่นักศึกษาซักประวัติกลับมา ผมใช้วิธีการเปรียบเทียบ ให้เห็นถึงความรุนแรงของอาการ (severity) ตัวอย่าง เคสที่ 1 ให้ประวัติว่าอ่อนแรงทั้งซีกขวาตอนกลางคืน ลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำไม่ได้ ปัสสาวะรดที่นอน กับเคสที่ 2 ให้ประวัติว่าอ่อนแรงทั้งซีกขวาตอนกลางคืน แต่พอลุกขึ้นมาเดินลากขาไปเข้าห้องน้ำ และเรียกภรรยาพาไปโรงพยาบาลได้ จะเห็นว่าทั้ง 2 เคสมีความรุนแรงของอาการไม่เท่ากัน เคสที่ 1 อาการรุนแรงกว่าเคสที่ 2 ทั้งนี้ ในการฝึกปฏิบัติจริงๆ คงไม่ได้มีเพียงคำถามที่ตรงไปตรงมาอย่างเดียว การทำให้นักศึกษาเข้าใจ จึงเป็นบทบาทของอาจารย์ผู้สอนที่จะชี้แนวทางให้ สำหรับนักศึกษาปีสูงขึ้นไป ผมจะเน้นให้ลงในรายละเอียดและให้นักศึกษาเชื่อมโยงกับพยาธิสภาพ ที่จำเป็นต้องเชื่อมโยง ด้วยเพราะเป็นแนวในการตรวจร่างกายและรักษา (1) และเป็นข้อมูลในการพยากรณ์โรค (2) ครับ



           กว่านักศึกษาจะสามารถซักประวัติส่วน ONSET ได้อย่างเข้าใจ จำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนจริง ผนวกกับการเรียนรู้กลไกการเกิดโรคและอาการต่างๆ ครับ ในบทหน้า ผมจะขยายความเพิ่มในส่วนประวัติก่อน ประวัติหลัง จนมาถึงอาการสำคัญครับ

ขอบคุณครับ
อนุชัย

วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ทุน 7 ประการที่ไม่ใช่เงิน ตอนที่ 1 : ทุนในตัวเรา




           เวลาพูดถึงการลงทุนจะทำอะไรสักอย่าง เรามักจะมองเรื่องของเงินทองเป็นอย่างแรก ความคิดเช่นนี้ ผมไม่ได้บอกว่าไม่จำเป็น หรือไม่สำคัญ แต่อยากจะบอกว่า ถ้าคิดเรื่องเงินทองเป็นอันดับแรก ความคิดด้านอื่นๆ จะถูกเห็นความสำคัญลดลงครับ ดังนั้น บทความนี้ จะพูดถึง ทุน ที่เราทุกคนสามารถสร้างด้วยตนเองได้ครับ

           ต้องออกตัวก่อนนะครับ เรื่องทุนที่จะเล่านี้ ไม่ใช่แนวความคิดของผมนะครับ แต่ได้มาจากการได้ยินได้ฟังผู้ป่วยท่านหนึ่งเล่าให้ฟัง และผมเอามาขยายอีกที ในเรื่องที่เล่าหลายๆ เรื่อง มีเรื่อง ทุน 7 ประการด้วยครับ ซึ่งผมดึงมา 6 ทุน บวกกับทุนแรกสุดที่ทุกคนควรมี โดยทุนแรกที่ผมเลือกมานั้น มาจากคำสอนตามหลักของทุกศาสนาครับ นั่นคือ
           
           ทุนความดี ครับ

           ความดี เป็นพื้นฐานของการสร้างสิ่งที่ดีงาม มีประโยชน์ ด้านการสร้างทุนก็เช่นเดียวกัน ผมไม่กล้าบอกว่าตัวเองนั้นดี เพราะผมนั้นก็ยังเทาๆ อาจจะเทาอ่อนเล็กน้อย (ซึ่งเป็นความจริงในทุกๆ คน) แต่ผมเชื่ออย่างสนิทใจว่า ความดีเป็นทุนต้นน้ำ ที่เป็นแหล่งต้นทุนสำหรับการสร้างทุนอื่นๆ

           มีคำกล่าวแต่โบราณว่า คนเก่งแต่ไม่ดี สร้างความเสียหายได้มากพอๆ กับคนไม่เก่งแต่ขยัน ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง คนที่เก่งต่อให้มีความสามารถเพียงใด ถ้าไม่มีความดี ย่อมที่จะตักตวงหาประโยชน์ใส่ตัวเองโดยไม่สนใจว่าจะสร้างความเดือดร้อนต่อคนอื่นและส่วนรวม แต่คนที่ไม่เก่งที่มีความขยัน เราพอที่จะสอนในสิ่งดีงามให้ค่อยๆ ซึมซับได้

           ดังนั้น ความดี จึงเป็นปฐมทุน ครับ

           สำหรับทุนที่สองที่อยากบอกกล่าว คือ ทุนเวลา ครับ

           เวลา เป็นของมีค่า เรื่องนี้เรื่องจริงครับ ทุกคนมีเวลาเท่าๆ กัน คือ 24 ชั่วโมง แต่ 24 ชั่วโมงของแต่ละคน สร้างสิ่งต่างๆ ได้แตกต่างกัน ผมไม่ได้หมายความว่า ให้เอาเวลาที่มีจำนวนมากๆ ไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากเกิน ตัวอย่างเช่น ผมทำกายภาพบำบัดนอกเวลา 3 ชม. (16.00-19.00 น) ก็เปลี่ยนเป็น 5 ชม. (16.00-21.00 น) เพราะจะได้ประโยชน์ คือ รายได้เพิ่ม แต่ดันทำร้ายสุขภาพตัวเอง....

           ความหมายในเรื่องเวลานี้ คือ การจัดสรรเวลาที่มีน้อยนิด ให้เกิดประโยชน์สุข เกิดความสมดุล และพอเพียง จัดเวลาเพื่องาน เพื่อคนอื่น เพื่อส่วนรวมให้พอๆ กับ จัดเวลาเพื่อตัวเองได้พักผ่อน ได้ผ่อนคลาย และในขณะที่ต้องทำงาน ก็ควรเบรคเล็กน้อยเพื่อผ่อนคลายบ้าง ถ้าเราจัดเวลาให้กับสิ่งอื่นมาก แต่ให้กับตัวเองน้อย ตัวเราจะทำสิ่งเหล่านั้นได้ไม่นาน หรือสุขภาพกายสุขภาพใจของเราจะแย่เสียก่อน แต่ถ้าเราจัดเวลาให้ตัวเรามากเกิน สิ่งอื่นรวมถึงส่วนรวมน้อย เราก็จะเฉื่อยชา ความคิดจะไม่ขยายออก และเราอาจจะมีความเห็นแก่ตัวโดยไม่รู้ตัวก็ได้

           เวลา จึงเป็นของมีค่า มีความสำคัญ

           สำหรับทุนตัวที่ 3 ซึ่งจะจบสำหรับส่วนแรกของบทความนี้ คือ ทุนความพยายาม ครับ

           วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

           พุทธพจน์นี้ ผมได้ยินครั้งแรก และได้รับทราบถึงความหมายมาตลอดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา เนื่องจากเป็นคติธรรมประจำโรงเรียนวัดราชบพิธที่ผมศึกษาอยู่ครับ

           ความพยายาม เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกคนครับ เพียงแต่ต้องแสดงออกมา เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยทั้งกำลังกายและกำลังใจอย่างเข้มแข็งเพื่อที่จะไปให้ถึงจุดหมาย

           ดังคำว่า ตั้งใจทำสิ่งใดย่อมได้รับสิ่งนั้น ไม่ได้เกินไปเลย ตัวอย่างที่เข้าใจไม่ยาก คือ ต้องการสุขภาพกายแข็งแรง ก็ย่อมต้องพยายามออกกำลังกาย ถ้าไม่ออกกำลังกาย ความแข็งแรงที่เคยย่อมลดลงได้

           แล้วจะสร้างทุนความพยายามอย่างไร

           ความพยายามเกิดจากความสนใจ ความศรัทธาต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด (ฉันทะ) จึงนำไปสู่ความพยายามไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคเพื่อไปให้ถึงสิ่งๆ นั้น (วิริยะ) แต่ความพยายามนั้นต้องประกอบไปด้วยการคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าเป็นสิ่งดี (จิตตะ) และใคร่ครวญลงมือกระทำโดยไม่ลังเลหรือย่อท้อ (วิมังสา) ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ในหลักธรรม อิทธิบาท4 ซึ่งเป็นหลักธรรมที่เป็นฐานหรือหนทางสู่ความสำเร็จ

           และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ต้องพยายามในสิ่งที่ดี สิ่งที่ควร หรือ สัมมาวายามะ ในมรรคมีองค์8 ครับ

           จบไปแล้วสำหรับทุน 3 ตัวแรก ซึ่งเป็นทุนภายใน เป็นสิ่งที่ต้องสร้างจากภายในของตัวเราเอง บทความหน้าจะต่ออีก 3 ทุน ซึ่งเป็นทุนต่อยอดที่ต้องอาศัยทุน 3 ตัวต้นนี้มากระทำให้สำเร็จครับ

ขอบคุณครับ
อนุชัย

เครดิตภาพ จาก
https://mgronline.com/stockmarket/detail/9620000034073

วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ซักประวัติ...เพื่อ : บทเริ่ม


การซักประวัติ คือ อะไร?

คำถามนี้ เวลาถามนักกายภาพบำบัดที่ทำงานแล้ว มักจะโดนถามกลับว่า "ถามทำไม ปกติก็ซักอยู่แล้ว ซักมากกว่าซักผ้าอีก" ... โอเค ทำงานมานานแล้ว ซักประวัติบ่อย เข้าใจ

ไม่เป็นรัย ถามเด็กลงมาอีกหน่อย ปี 4 พอถามไป ได้รับคำถามกลับมาว่า "พี่ๆ อาการสำคัญ คือ อะไร" หรือ "พี่ๆ มีท่าออกกำลังกายเจ๋งๆ มั้ย" โอเค กำลังจะจบการศึกษา อยากได้ของดีๆ เทคนิคดีๆ ไปใช้งาน

อ่ะ... ถามเด็กลงมาอีกก็ได้ ปี 3 ถามไป โดนถามกลับมาอีก "พี่ๆ หนู analyze ถูกมั้ย" เอ่อออออ.... ลืมไป ปีนี้มาเพื่อ analyze เป็น first priority...

หันไปหันมา เหลือปี 2 พอตั้งคำถาม
CI นุ : "รู้จักหรือไม่ การซักประวัติ คือ อะไร?"
นศก : "รู้ค่ะ รู้ การซักประวัติ คือ ...บลาาาาาฟฟฟฟาา" อืมม... ฟังแล้วดูทฤษฎีแน่นดี น่าจะเข้าเค้า
CI นุ : "ดีครับดี วันนี้มีผู้ป่วยมาให้ซักประวัตินะครับ พร้อมมั้ย"
นศก : ทำหน้าเหวอใส่...."พี่คะ จะดีหรือคะ"
CI นุ : "หืมมม ไม่มั่นใจหรือครับ"
นศก : "หนูไม่เคย....อ่ะค่ะ" (อืมม เข้าใจ ยังบริสุทธิ์อยู่)

จากนั้น ผมก็ไปนั่งให้กำลังใจข้างๆ
นศก : "คุณป้า เป็นอะไรมาคะ"
ผู้ป่วย : "อ่อนแรงน่ะลูก..."
นศก : "ทำไมอ่อนแรงคะ..."
ผู้ป่วย : "มันไม่มีแรง ยกแขนไม่ไหวลูก..."
นศก : "แล้ว...ทำไมยกแขนไม่ไหวล่ะคะ"
ผู้ป่วย : ........ แล้วก็หันมาหาผม ให้ผมเป็นญาติผู้ป่วยซะงั้น
CI นุ (ผม) : เอ่ออออออ

เชื่อหรือไม่ครับ นี่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ กับทุกคนตอนเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่ลงฝึกงานทางคลินิกครั้งแรก

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเหตุผลสั้นๆ ครับ "ไม่รู้จะซักอย่างไร"

การที่ไม่รู้จะซักอะไร ไม่ใช่ความผิดอะไรของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ครับ แต่มันเกิดจาก การซักประวัติ มันมีอะไรมากกว่าถามว่า "เป็นอะไรมาคะ"

สมัยที่เรียนปริญญาโท ผมได้กลับมาเรียนวิชาที่ลงชื่อว่า Advanced..... เกือบทุกวิชา แต่เชื่อมั้ยครับว่า วิชาที่เรียนนั้น คือ Advanced of basic knowledge ทุกวิชาเลยครับ ที่มันทำให้ดูเหนือกว่าวิชาปริญญาตรี คือ มีหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based practice : EBP) เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง และมีการคิดที่เป็นองค์รวม แต่ตรงนั้นไม่สำคัญ สำคัญมีวิชาหนึ่งที่ต้องไปเรียนกับศาสตร์หลายๆ อย่าง กับผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน มีท่านหนึ่งที่ให้ข้อนึกคิดขึ้นมา คือ อ.หมอนิพนธ์ ท่านกล่าวไว้ว่า "การซักประวัติ คือ กระบวนการมากกว่าร้อยละ 80-90 ของการรักษา ถ้าซักประวัติดี แทบไม่ต้องตรวจร่างกาย ก็วินิจฉัยและรักษาได้ตรงโรค"

ผมตอนนั้นได้รับฟัง ก็นั่งคิดว่า มันจะจริงหรือ คิดไปคิดมา มันจริงนะ ตอนทำกายภาพบำบัดเคสผู้ป่วย ก็จะถามแล้วตรวจตามปัญหา ไม่เหวี่ยงแห ตรงประเด็นจริงๆ แต่มีจุดบ่งชี้อยู่ 1 อย่างที่สำคัญ คือ

"ถ้าซักประวัติดี แทบไม่ต้องตรวจร่างกาย"
แล้ว จะ ซักประวัติให้ดีอย่างไร

จริงๆ วันที่เรียน อาจารย์หมอ ได้สอนให้เข้าใจแล้วว่าทำอย่างไรถึงจะซักประวัติได้ดี แต่ท่านไม่ได้สอนให้ซักประวัติ แต่ท่านสอน Type of weakness จากคำถามว่า ผู้ป่วยมาพบเราด้วยอาการอ่อนแรง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอ่อนแรงที่มาคือ อ่อนแรงแบบไหน

ทำให้ผมได้คำตอบว่า การซักประวัติที่ดี คือ รู้หรือยังว่าอาการที่มา หรือ โรคที่เป็น มีการแสดงอย่างไร มีพยาธิสภาพอย่างไร ซึ่งนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ตอบไม่ได้แน่ๆ เพราะยังไม่เรียนลงไปอย่างลึกซึ้ง แล้วจะซักประวัติอย่างไร

การซักประวัติเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ การให้นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ซักประวัติ เป็นกระบวนการหนึ่งที่ให้ได้ฝึกทักษะ ซึ่งเป็นส่วนของศิลป์ ให้สามารถใช้คำพูดอย่างมีความถูกต้อง ดีงาม สละสลวย และสื่อถึงความเป็นผู้รักษาที่ตั้งใจเข้ามาดูแลผู้ป่วยครับ ส่วนศาสตร์หรือองค์ความรู้จะดำเนินการไปพร้อมกัน เพื่อให้รู้ลงไปในรายละเอียดของโรคหรืออาการนั้นๆ ครับ

บทเริ่ม นี่ก็เยอะแล้ว... ผมจะฝากรูปที่เขียนไว้คร่าวๆ ให้ดูกัน ซึ่งจะอธิบายให้ในการซักประวัติ...บทที่สองครับ
สำหรับ ปี 2 และปี 3 เทอมต้น ภาพนี้ คือ แนวการถาม การซักประวัติ
สำหรับ ปี 3 เทอมปลาย และปี 4 ภาพนี้ คือ แนวการจัดความคิดเกี่ยวกับการซักประวัติ ซึ่งเป็นการฝึกตาม motor control and learning ให้กับตัวเองครับ

ขอบคุณครับ
อนุชัย

วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2562

TEDS for Practical Work


ทุกอย่างย่อมมีจุดเริ่มต้น หรือ เหตุของการกระทำเสมอ...

จุดเริ่มต้นของการเขียน blog นี้เช่นเดียวกัน...

เหตุ คือ อยากจะแชร์ความรู้ในฐานะเป็นอาจารย์ทางคลินิก หรือ clinical instructor : CI ที่สอนตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 แบบไม่เป็นทางการ ให้เข้าใจง่ายๆ คือ ช่วยสอนเพราะอาจารย์เลือกเคสของผมเป็นเคสฝึกงานนักศึกษา จนปี พ.ศ.2551 ได้เริ่มสอนทางคลินิกเอง แต่เป็นแบบเครื่องสอนทางคลินิก (หุ่นยนต์สอนหนังสือ^^') จนมาถึงปัจจุบัน ที่พอจะดูเป็นผู้เป็นคนบ้าง...

เท้าความเยอะไปหน่อย....แล้วจะแชร์อะไรบ้าง

ส่วนหนึ่งมีเด็กๆ คือ นักศึกษาขอให้เขียน ซึ่งพลัดผ่อนด้วยความขี้เกียจล้วนๆ แต่ว่ารอต่อไปคงไม่ได้ทำอะไรสักที อาจจะหมดลมไปก่อน สิ่งที่แชร์ คือ กระบวนการคิดการจัดการทางคลินิก หรือ clinical reasoning and management ในมุมมองของ CI ที่เริ่มจากผู้ป่วยเข้ามาพบเรา จนกระทั่งส่งออกกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน จะมีแทรกแนวการตรวจร่างกาย การใช้ทฤษฎีเข้ามาประกอบ รวมถึงการจัดการ ทั้งแบบ passive technique และมุมมองการใช้ therapeutic exercise ที่ไม่ใช่การออกกำลังกายทั่วไป...

จะเริ่มต้นด้วยบทความชุด ซักประวัติ...เพื่อ? เร็วที่สุดน่าจะคืนนี้ดึกๆ ครับ

ขอบคุณครับ
อนุชัย

วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กายภาพบำบัด คือ ศาสตร์ของการเคลื่อนไหว


มีคนหลายคนที่ผมเคยประสบมา ทั้งพี่น้อง เพื่อนฝูง รวมถึงผู้ป่วยเอง ถามว่า จริงๆ แล้ว นักกายภาพบำบัด ทำงานหรือหน้าที่อะไร

คำถามนี้น่าคิด.....

จริงๆ สมัยเข้ามาเรียนปริญญาตรีสัก 16-17 ปีที่แล้ว (ดูแก่เลย ^^') สาขากายภาพบำบัดของ ม.มหิดล อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จาก โรงเรียนกายภาพบำบัด ในคณะแพทยศาสตร์ สู่การเป็นโครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์ (ที่มหิดล เวลาเป็นโครงการสร้างคณะ จะลงท้ายด้วย -ศาสตร์ประยุกต์ เป็นส่วนใหญ่) ทำให้พอคาดเดาได้ว่า มาเรียนสายวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวนะ แต่ตอนนั้นไม่เข้าใจหรอกว่าต้องเรียนอะไรบ้างที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว

พอเรียนถึงระดับปรีคลินิก : pre-clinic (หลักสูตร วท.บ. กายภาพบำบัด เรียน 4 ปี ปีที่ 2 จะเรียนในวิชาปรีคลินิก ก่อนจะเรียนระดับคลินิกในปีที่ 3-4) มีการเรียนในวิชาที่ไม่ได้ต่างกับสาขาทางเวชศาสตร์อื่นๆ แต่มีอยู่วิชาหนึ่ง ที่ทำให้สาขากายภาพบำบัด มีความเป็นวิชาชีพเฉพาะทาง คือ วิชา ชีวกลศาสตร์ หรือ Biomechanics ที่ศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิต ซึ่งหลักๆ ก็คือ การเคลื่อนไหวของมนุษย์ ทั้งแบบปกติและผิดปกติ ทำให้ผมเข้ามายังวิถีของศาสตร์ของการเคลื่อนไหวทีละน้อย

เมื่อครั้นตอนที่ทำงาน สิ่งที่ทำและทบทวนทุกๆ วัน คือ วันนี้เราพบเคสที่ป่วยเป็นอะไรมา และอาการหรือโรคนั้นทำให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหวอย่างไร และใช้วิธีการใดเพื่อแก้ไข ปรับปรุง พัฒนา การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติเหล่านั้น ให้กลับมาเคลื่อนไหวได้ หรือเกือบ กับคำว่า ปกติ มากที่สุด ซึ่ง blog ที่เขียนนี้จะแชร์ในมุมมอง นักกายภาพบำบัด ในการแก้ไขความผิดปกติในครั้งถัดๆ ไป ครับ

ทีนี้ เราใช้วิธีการใดบ้าง เพื่อจัดการการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติเหล่านั้น ขอบอกตามตรงว่ามีหลากหลายวิธีการมาก ทั้งแบบผู้รักษาลงมือกระทำ หรือที่เรียกรวมๆ ว่า Manual Therapy หรือการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์รักษาต่างๆ ที่เรียกรวมๆ ว่า Electrotherapy หรือใช้เทคนิคจำเพาะ (Special technique) ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ อาศัยผู้รักษาเป็นแกนหลัก หรือเป็น Passive technique แต่มีอีกกระบวนการหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องมือหลักเช่นกัน คือ การรักษาด้วยการออกกำลังกาย หรือ Exercise Therapy หรือ Therapeutic exercise ซึ่งอาศัยผู้ป่วยเป็นแกนหลัก หรือเป็น Active technique โดย Therapeutic exercise เป็นที่มาของการตั้งชื่อ blog : TEDSbyNuPT ครับ

สุดท้ายก่อนจะจบ ผมจะขอนำคำจำกัดความที่อาจารย์อาวุโสด้านกายภาพบำบัดท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้สมัยผมเรียนปริญญาโทในสาขาเดิม ท่านกล่าวไว้ว่า

นักกายภาพบำบัด คือ นักจัดการการเคลื่อนไหว
Physical Therapist is movement manager

ขอบคุณครับ
อนุชัย

เครดิตรูปจาก In your home therapy
url https://www.inyourhometherapy.com/our-blog/types-physiotherapy-aware/

ทุน 7 ประการที่ไม่ใช่เงิน ตอนที่ 3 : ทุน (ให้) สังคม

           2 บทความเกี่ยวกับทุนที่ผ่านมา ผมได้กล่าวถึง 3 ทุนที่ควรมีในตัวเรา คือ ทุนความดี ทุนเวลา และทุนความพยายาม (ทุน 7 ประการ ตอนที...